เติบโตอย่างมีส่วนร่วม ทั่วถึง ในยุค 4.0 ด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคม

Inclusive Growth in 4.0 Era with Social Innovation
เติบโตอย่างมีส่วนร่วม ทั่วถึง ในยุค 4.0 ด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคม

การเติบโตและพัฒนาประเทศไทยตามกรอบแนวคิด ประเทศไทย 4.0” มีประเด็นที่สำคัญและถูกกล่าวถึงจำนวนมากคือ Inclusive Growth หรือ การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ทั่วถึง เป็นแนวทางสร้างการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มอบโอกาสให้ทุกคนได้รับประโยชน์หรือผลลัพธ์เชิงบวกร่วมกันอย่างทั่วถึง สำหรับประเทศไทยที่ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมหรือทั่วถึง อาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับการสร้างให้เกิดขึ้นภายใต้กิจกรรมการดำเนินงานของธุรกิจ ขณะที่โครงการภาครัฐก็ไม่สามารถขยายไปได้ทั่วถึงทุกคนในประเทศอย่างแท้จริงจึงมีความจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องเริ่มตระหนักและขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิดใหม่ที่เหมาะสมกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ทั่วถึง มีความสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Growth) ที่ครอบคลุมการบริหารจัดการและสร้างคุณประโยชน์ที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ Inclusive Growth จึงเป็นแนวคิดที่สามารถสร้างความแตกต่างและความสามารถทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำหรับโลกยุคใหม่ที่ผู้บริโภคตื่นตัวและสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น

การสร้าง Inclusive Growth ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับภาคธุรกิจ สามารถสร้างขึ้นจากแนวคิดด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Social Innovation หรือนวัตกรรมเพื่อสังคม คือ แนวคิดที่ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ ตลอดจนตอบสนองความต้องการจำเป็นของสังคมหรือผู้บริโภคทั้งที่เปิดเผยให้เห็นหรือไม่ได้เปิดเผย เช่น ทุกวันนี้ผู้บริโภคใช้กระดาษชำระจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้สินค้า แต่ความต้องการจำเป็นของสังคมและผู้บริโภคที่ซ่อนอยู่คือ พวกเขาไม่อยากให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกระดาษชำระ เพราะหากสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของทุกคนในสังคม หรือกล่าวได้โดยง่ายว่า Social Innovation คือ สินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์หลักของ Social Innovation คือ การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมชุมชน การพัฒนาและยกระดับชุมชน สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางแห่งการสร้างความยั่งยืนและสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกๆ คนบนโลก หรือในประเทศที่องค์กรตั้งอยู่เรียกว่าเป็น Inclusive Growth ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอดีตนั้น Social Innovation เกิดขึ้นจากองค์กรขนาดใหญ่ รัฐบาล เป็นกลไกขับเคลื่อน แต่โลกยุค Internet of Things และการพัฒนาแนวคิดด้านธุรกิจดูเหมือนว่าจะสนับสนุนให้ Start Up มีโอกาสในการสร้าง Social Innovation ที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นได้ ด้วยโมเดลหรือรูปแบบการทำงานแบบ Start Up ที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่ยืดหยุ่นสูง มุมมองแนวคิด และการวิเคราะห์หา Pain Point ของผู้บริโภคและคนในสังคมเชิงลึกทำให้ Start Up เข้าใจผู้บริโภคและสังคมเป็นอย่างดีและสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการก้าวกระโดดหรือเติบโตที่รวดเร็วผ่านเทคโนโลยี

สิ่งที่สำคัญสำหรับการสร้างและพัฒนา Social Innovation คือ การค้นหาและระบุ Social Needs หรือความต้องการของสังคมที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการตอบโจทยความต้องการสังคม โมเดลการระบุ Social Needs เท่ากับ A intersection P (ดังภาพ)



การสร้าง Social Innovation ให้เกิดขึ้นต้องเกิดจากการโอกาสที่เหมาะสมควบคู่กับการค้นพบปัญหาของสังคม Start Up ต้องค้นหา สร้างและพัฒนาศักยภาพหรือสมรรถนะของตนเอง โดยสมรรถนะที่ดีต้องโดดเด่นชัดเจน ยากต่อการลอกเลียนแบบ ขณะเดียวกันต้องติดตามสถานการณ์ของสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสิ่งใหม่หรือเรื่องราวใบๆ ที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตบนโลก ขณะที่ต้องทำการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจน เพื่อให้เข้าใจ Pain Point ของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนสิ่งที่พวกเขาต้องการ (Gain) โดยปัญหาที่ค้นพบจะต้องเป็นระดับ Shark Bite หรือการกัดโดยฉลาม เมื่อใครก็ตามถูกฉลามกัด ไม่พ้นที่จะต้องส่งโรงพยาบาล คงไม่มีใครนอนพักรักษาตัวเฉยที่บ้านหรือนำยาหม่องมาทาแล้วจะหายได้ เปรียบได้กับนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการได้แบบสมบูรณ์แบบและยากต่อการมีสินค้าและบริการใดมาทดแทนได้นั่นเอง ทั้งนี้นวัตกรรมเพื่อสังคม ประกอบไปด้วย 6 รูปแบบ ได้แก่ 

นวัตกรรมในรูปแบบสินค้าหรือบริการ คือ นวัตกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่การเป็นสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ตลาด หรือความต้องการทางสังคม เช่น Reebok ผลิตรองเท้าที่สร้างขึ้นจากวัตถุดิบ คือ ฝ้ายและข้าวโพด เมื่อผู้บริโภคเลิกใช้สินค้าทาง Reebok มีโครงการรับสินค้ากลับไปเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ปลูกข้าวโพดที่จะนำไปสู่การผลิตรองเท้ารุ่นต่อๆ ไป หรือนวัตกรรมเพื่อสังคม โถปัสสาวะ ที่ออกแบบให้ไม่ต้องใช้น้ำในการชะล้างแต่ใช้น้ำยาในการทำความสะอาดทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อลดการใช้พลังงานน้ำของโลก หรือนวัตกรรมด้านบริการ เช่น Zipcar ที่เป็นรูปแบบ Car-Sharing หรือ Sharing Economy ให้ใครก็ตามที่มีรถยนต์แต่ไม่ได้ใช้งาน หรือไม่ค่อยใช้งานมาเข้าร่วมการบริการให้บุคคลอื่นเช่าไปใช้ โดยมี Zipcar เป็นคนกลางในการบริหารข้อมูลและการบริการ ซึ่งช่วยลดปัญหาการมีปริมาณรถยนต์ที่มากเกินไปบนท้องถนนที่นำไปสู่การปัญหาการจราจร สุขภาพจิตและมลภาวะทางอากาศ  

นวัตกรรมในรูปแบบวิธีการปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงบทบาทและวิธีการปฏิบัติใหม่ที่สอดคล้องและยกระดับความต้องการของสังคม เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างหนึ่ง เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการปรับเปลี่ยนบทบาทและวิธีการปฏิบัติของข้าราชการในการให้บริการประชาชนอย่างสิ้นเชิง โดยเน้นการทำงานแบบเข้าใจสังคม และใช้ความต้องการทางสังคมเป็นที่ตั้งในการทำงานเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง

นวัตกรรมในรูปแบบกระบวนการ คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานใหม่ที่ให้สังคมหรือชุมชนมีส่วนร่วมมีการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ดีในเมืองแห่งหนึ่งของประเทศบราซิลโดยใช้รูปแบบนโยบาย Participatory Budgeting Project ให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ร่างกฎระเบียบ ออกแบบการลงทุนโครงการต่างๆ ในชุมชนเพื่อจัดสรรงบประมาณและการใช้งบประมาณที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นกับชุมชน

นวัตกรรมในรูปแบบกฎระเบียบและกฎหมาย ในประเทศแถบยุโรปที่พัฒนาแล้ว มีการเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมากและพวกเขาเหล่านั้นไม่มีรายได้จากช่องทางการทำงานอีกต่อไป ดังนั้นรัฐบาลในหลายประเทศ ให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกและกำหนดจำนวนเงินสบทบที่จะจ่ายเพื่อประกันสุขภาพได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินและสุขภาพที่แท้จริงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้สูงอายุ

นวัตกรรมในรูปแบบองค์กรเพื่อสังคม คือ การสร้างองค์กรเพื่อมีวัตถุประสงค์หลักในการทำเพื่อสังคม เป็นรูปแบบองค์กรใหม่ที่กำลังนิยมและได้รับการยอมรับจากองค์กรขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงวิธีการทำ CSR ไปสู่การตั้งองค์กรหรือธุรกิจเพื่อสังคมออกมา ในประเทศอังกฤษมีองค์กรผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่ม Belu Water ที่นำผลกำไรที่ได้จากการจัดจำหน่ายไปเข้ากองทุน Water Aid เพื่อผลิตน้ำสะอาดให้กับประชากรบนโลก ในประเทศไทยมีตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านได้ทำให้เกิดโครงการดอยคำ เปลี่ยนดอยที่เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นและสร้างผลกระทบต่อคนในสังคมไปสู่โครงการหลวงที่สร้างงาน อาชีพอย่างยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพที่ทรงเห็นความสำคัญของการสร้างคุณประโยชน์ที่สังคมต้องการ


การสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม สามารถออกแบบตามและดำเนินการตามองค์ประกอบ Social Innovation House ได้ดังภาพ

ภาพ Social Innovation House

             

การเริ่มต้นสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม เริ่มจากการสร้างสรรค์แนวคิด (Idea Generation) ที่เหมาะสม โดยการวิเคราะห์และตกผลึกทางความคิด ผ่านกระบวนการคิดเชิงระบบ (Systematic Thinking) องค์ประกอบ Idea Generation คือ การหา Social Need จากสมการที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อได้แนวคิดที่ชัดเจน ต่อมาคือการพัฒนาให้เป็นโมเดลทางธุรกิจ ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเชนและเห็นภาพในมุมธุรกิจถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันการตลาด และที่สำคัญนวัตกรรมนี้จะสร้างมูลค่าและตอบแทนการลงทุนจากช่องทางใดได้บ้าง ภายหลังโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ขั้นตอนต่อมาคือการสร้าง Prototype หรือต้นแบบนวัตกรรมและทำการทดสอบ เพื่อหาข้อมูลผิดพลาด ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปิดจุดข้อผิดพลาดต่างๆ ให้สมบูรณ์ สำหรับ Sustaining คือการพัฒนาแนวคิดและต้นแบบนวัตกรรมให้เกิดการสร้างพฤติกรรม หรือให้เกิดการใช้งานในทุกๆ วันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เช่น Smartphone ที่ได้กลายมาเป็นมากกว่าแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่เป็นทุกๆ สิ่งในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เรียกได้ว่าทุกๆ วัน ทุกคนต้องหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้งานในทุกๆ ชั่วโมงของชีวิต และองค์ประกอบสุดท้ายคือ  Scaling การสร้างการเติบโตและขยายนวัตกรรมเพื่อสังคมออกไปให้เป็นวงกว้าง เช่น การเพิ่มองค์ประกอบ การปรับปรุง ให้รองรับความต้องการของสังคมได้หลากหลายและมากขึ้น  


ดังนั้นการจะติดเครื่องยนต์ธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางประเทศไทย 4.0 ผ่านมิติ Inclusive Growth มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโอกาส ความเท่าเทียมและผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นในวงกว้างและทั่วถึง ธุรกิจสมัยใหม่ควรพิจารณาสร้างสรรค์ขีดความสามารถทางการแข่งขันที่แตกต่างและยั่งยืนโดยใช้กลไกการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสังคมตอบสนองความต้องการของตลาด และสังคมไปพร้อมๆ กันเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้โลกก้าวไปสู่แนวทางการทำธุรกิจที่ถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน 

ดร.ทอย
#DrToyสปอยส์ธุรกิจ

Comments

Popular posts from this blog

การวิเคราะห์ลูกค้า (Customer Analysis)

องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ (Product Component)

Distribution Model