ธุรกิจสำเร็จได้ถ้าเข้าใจ "จังหวะการเคลื่อนที่ของเงิน"

"จังหวะการเคลื่อนที่ของเงิน" เทคนิคการจัดการธุรกิจสู่ความสำเร็จ

"จังหวะการเคลื่อนที่ของเงิน" 
"เจ้าของกิจการ (Entrepreneur) ที่ประสบความสำเร็จ ต้องรู้อะไร"


ประสบการณ์ของผมจากที่มีคนรู้จัก นักศึกษาหรือแม้กระทั่งลูกค้าจำนวนมากถามผมเสมอว่า จะเป็นเจ้าของกิจการที่สำเร็จได้ต้องทำอย่างไร
  1. มีเงินเหรอ? คงไม่ใช่ผมเห็นมาหลายร้อยคนที่ขอเงินคุณพ่อหรือคุณแม่หลักหลายล้านบาทหรือมากกว่านั้นมาทำธุรกิจสรุปคือ "เจ๊ง" แล้วต้องกลับไปอยู่ใต้ปีกของคุณพ่อคุณแม่เพื่อรับกิจการต่อเช่นเดิม 
  2. ความรู้ "MBA" อย่าฝันและหวังว่าการเรียน MBA ทำให้คุณเป็นเจ้าของกิจการที่ดี เพราะ MBA สอนให้คุณเป็นผู้บริหารที่จะประสบความสำเร็จไม่ใช่เจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ

            ก่อนที่ผมจะหาเวลามาเล่าถึงโมเดลที่ทำให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้จัดการสำเร็จที่มีการนำเสนอไว้และทาง MVP Consultant ได้นำไปพิสูจน์ด้วยการวิจัยในตลาดต่าง ผมจะนำเสนอหลักง่ายๆ ก่อนครับ ลองสังเกตองค์กรขนาดใหญ่ของไทย เช่น CP, ช้าง, Central หรือสหพัฒน์ ผู้ก่อตั้งกิจการไม่ได้เริ่มต้นจากการมีเงินและนำมาลงทุน หรือจบการศึกษาสูงอย่าง MBA แล้วประสบความสำเร็จ พวกเขาเริ่มต้นด้วยความยากจน ความลำบาก และปราศจากความรู้ในห้องเรียน แต่.... พวกท่านเหล่านั้นมีความรู้ที่เหมือนกันอยู่สิ่งหนึ่ง ที่เจ้าของกิจการหรือคนยุคใหม่ไม่มี หรือมีน้อยมากเท่าที่ผมได้ประสบด้วยตนเองนั่นคือ "จังหวะการเคลื่อนที่ของเงิน"
            เรื่องจังหวะการเคลื่อนที่ของเงินสำคัญมากถึงมากที่สุดครับ ผู้ที่อยู่ในวงการทางการเงินจะทราบได้ดี เจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ รู้ว่าเงินอยู่ที่ไหน จะเอาเงินนั้นมาเป็นของตนเองอย่างไร และจังหวะที่จะเคลื่อนย้ายมันคือเมื่อใด ถ้าคุณเข้าใจเรื่องพื้นฐานเหล่านี้คุณจะเข้าใจโอกาสของธุรกิจและวิธีการหาเงินในแบบฉบับเจ้าของกิจการ การบริหาร Cash Flow และ Cash to Cash Cycle อย่างเหมาะสมธุรกิจคุณจะไม่มีวันล้ม ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเห็นกันทุกวันนี้นะครับ ทำไมการค้าขายผ่านระบบออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Line ของพ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นจึงสำเร็จสร้างรายได้จำนวนมาก ลูกศิษย์ของผมหลายคนที่ได้รับคำแนะนำไปประสบความสำเร็จ ปัจจุบันสามารถซื้อรถ บ้าน และส่งตนเองเรียนได้ นั่นคือความภูมิใจของพวกเขา ที่ทำได้นั้นเพราะเขาเข้าใจคำว่า Cash to Cash Cycle

ยกตัวอย่างเช่น
นางสาวเอ เปิดร้านบน Facebook เพื่อจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้าแบรนด์เนมที่หาซื้อได้ในราคาถูกกว่าประเทศไทย เช่น ที่ประเทศฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ด้วยเหตุผลของการลดภาษีนักท่องเที่ยว นางสาวเอไม่จำเป็นต้อง Stock สินค้าเหมือนในอดีต ที่หลายธุรกิจสั่งสินค้าเข้ามาและสต๊อกสินค้าไว้และหาช่องทางการจัดจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าเพื่อระบายสินค้าออกไป แต่นางสาวเอ ขายบนโลกออนไลน์ร้านค้า 24 ชม ทุก 7 วัน มันสามารถนำเสนอตนเองได้ตลอดแม้กระทั่งนางสาวเอ จะกิน จะนอน หรือทำธุรกิจส่วนตัวโอกาสของยอดขายมีได้ตลอดเวลา แถมค่าเช่าไม่มี ฟังอีกครั้งนะครับค่าเช่าไม่มี นั่นมันสุดยอดเลยเพราะ Cash Flow ที่ไฟลออกจากกระเป๋าของนางสาวเอ แทบไม่มีแต่กำลังจะเกิด Cash Flow ขาเข้าที่มหาศาล เพราะอะไรนะเหรอง่ายมากด้วยวิธีการขายแบบ Pre-order เอไม่ต้อง Stock แถมเห็น Demand ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเพราะใครสนใจต้องจอง และโอนเงินก่อนจะค่ามัดจำหรือบางร้านเก็บยอดเต็ม ซึ่งจะได้ของอีกทีรอบหน้า อาจจะ 15 30 หรือ 45 วัน นั่นหมายความว่า เอ ยังไม่ได้จ่ายเงินออกไปเพื่อซื้อสินค้ามาขายแต่รับเงินค่าสินค้าล่วงหน้าเรียบร้อย Cash to Cash Cycle ติดลบทันทีซึ่งดีมากกก เช่น ยกตัวอย่างในอดีตซื้อสินค้ามาขายจ่ายเงินวันที่ 1 ขายสินค้าได้วันที่ 31 Cash to Cash Cycle เท่ากับ 30 วัน แต่นี่สินค้ายังไม่ได้สั่งซื้อ แต่ขายได้แล้ว นี่เข้าหลักการ OPM หรือ Other People Money การยืมเงินคนอื่นมาลงทุน นี่คือเส้นทางความสำเร็จของเจ้าของกิจการตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ธุรกิจที่รู้จักการบริหาร Cash to Cash Cycle ได้ดีที่สุดผมขอยกให้ 7-11 นำสินค้ามาขายจำนวนมากโดยได้เทอมการค้าที่ค่อนข้างดีอาจจะ 15 30 45 หรือ 60 วันแล้วแต่อำนาจต่อรองของคู่ค้า 7-11 ซึ่งเปรียบเสมือนการซื้อเงินเชื่อ แต่ 7-11 ขายเชื่อเหรอ บ้า!!! 7-11 ขายสดวางสินค้าคิดเงินจ่ายเงินนำกลับบ้าน 7-11 เก็บเงินสดจากลูกค้าทุกรายที่เดินเข้ามา แต่ลองคิดดูนะครับว่าได้เงินมาวันนี้ แต่อีกหลายเพลาถึงจะจ่าย ชีวิตดีมากทีเดียวสำหรับธุรกิจรูปแบบนี้ ลองคิดเล่นๆ นะครับ ปัจจุบัน 7-11 มีกว่า 8000 สาขา เฉลี่ยขายได้สาขาละ 100,000 บาทต่อวัน หนึ่งวันมีมูลค่ารวมเท่ากับ 800 ล้านบาท แค่คิดเล่นๆ เอาไปฝากธนาคารที่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ก็พอนะครับ ย้ำว่าแค่ออมทรัพย์แบบไม่ขอสิทธิพิเศษอะไรจากมูลค่าเงินก้อนโตจากสถาบันการเงินเลยดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5ต่อปี หรือ ประมาณ 0.0416 ต่อเดือน ถ้าเทอมการค้าที่ได้มาต้องชำระเงินอีก 30 วันข้างหน้า 7-11 เอาเงินมูลค่า 800 ล้านบาทไปฝากกินดอกเบี้ยออมทรัพย์ขำๆ ที่ 1 เดือน จะได้ดอกเบี้ยแบบเราๆ ขำไม่ออก คือ 33.28 ล้านโดยประมาณ เฉลี่ยวันละล้านนิดๆ อำนาจของ Cash to Cash Cycle นี่ไม่ธรรมดาเลยนะครับ ลองคิดเล่นถ้านำเงินก่อนนั้นไปหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี มันจะทวีคูณแค่ไหน อยากรู้ลองกดเครื่องคิดเลขเองนะครับ
         ดังนั้นความสำเร็จของเจ้าของกิจการจำนวนมากส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มต้นจากความรู้อันสูงศักดิ์ หรือเงินเท่านั้น แต่พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจนถึง "จังหวะการเคลื่อนที่ของเงิน"

ทั้งนี้บริษัท MVP ของผมละเริ่มต้นอย่างไร ก็เริ่มต้นด้วย "จังหวะการเคลื่อนที่ของเงิน" ไงครับ ผมรู้ว่าที่ไหนมีเงิน จะเอามาเป็นของตนเองอย่างไร ผมจึงเปิดบริษัทด้วยทุนเพียง 3000 บาท ปัจจุบัน โครงการของเราจำนวนมากมูลค่าหลายล้านบาท ไม่ใช่เพราะผมเริ่มต้นด้วยเงินทุนจำนวนมาก แต่ผมเริ่มต้นด้วยคำว่า "จังหวะการเคลื่อนที่ของเงิน"

ดร. ปุญญภณ เทพประสิทธิ์
CEO MVP Consultant
dr.punyapon@gmail.com

Comments

Popular posts from this blog

การวิเคราะห์ลูกค้า (Customer Analysis)

องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ (Product Component)

Distribution Model